เปลี่ยนการแสดงผล
ครบรอบ ๙ ปี กรมฝนหลวงฯ สานต่อศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน ด้วย ๓ งานวิจัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน
25 มกราคม 2565 556 ครั้ง

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 9 แห่งการได้รับสถาปนายกระดับเป็นกรม พร้อมสานต่อศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนา 3 งานวิจัย เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชน

วันที่ 25 มกราคม 2565 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และประกอบพิธีสงฆ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 9 และจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ กับ 4 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการน้ำ กับ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย มูลนิธินภามิตร และโครงการเพิ่มขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างบูรณาการ และร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำของประเทศได้ทันต่อสถานการณ์

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานสนองงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยตรง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม ของทุกปี และในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 ตุลาคม 2564 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรของเกษตรกรและประชาชน โดยกรมฝนหลวงฯ ยังได้รับการสนับสนุนและการทำงานอย่างบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมฝนหลวงฯ ด้วยดี ทั้งในด้านอากาศยานและเจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศและกองทัพบก และได้รับการสนับสนุนน้ำแข็งแห้งจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

สำหรับด้านการสานต่อศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน ด้วย 3 งานวิจัย เพื่อเสริมศักยภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ในขณะนี้กรมฝนหลวงฯ ได้ดำเนินการเรื่องการนำอากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicle : UAV) มาประยุกต์ใช้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น การพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ สำหรับใช้ในภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บและปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น และการพัฒนาอุปกรณ์การพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (Ground-based Generator) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีทางเลือกที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือที่มีข้อจำกัดด้านการใช้อากาศยานในการปฏิบัติการ รวมไปถึงการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือกที่ใช้ในช่วงสภาพอากาศมีความชื้นสัมพัทธ์น้อยกว่า 60% และการพัฒนาแผนที่ความต้องการน้ำ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมความแม่นยำของการวางแผนและกำหนดพิกัดพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้ถูกที่ ถูกเวลา และตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมทั้ง ลดความเสี่ยงจากการเกิดผลกระทบในพื้นที่ที่ไม่ต้องการฝน โดยงานวิจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกรมฝนหลวงฯ ที่สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 และการดำเนินงานในปี 2565 นี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงพัฒนาเพื่อเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานภายในปี 2580 และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเตรียมพร้อมอากาศยาน นักบิน นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ โดยจะเริ่มเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่จะถึงนี้ เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป นายสำเริง กล่าวทิ้งท้าย

ภาพและวีดีโอ