องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี พร้อมรับฟังแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี
รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง
ลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี
และความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พร้อมรับฟังบรรยายแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 ซึ่ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการวางแผนเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งของประชาชนตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งเป็นต้นไป สำหรับสนามบินท่าใหม่จะเป็นที่ตั้งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี
เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของจังหวัดในความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก
8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ตั้งแต่
ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน โดยจากเดิมมีพื้นที่รันเวย์เป็นดินลูกรังบดอัดแน่น ประกอบกับประสบปัญหาเป็นฝุ่นในฤดูแล้งและลื่นในช่วงหน้าฝน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมีแผนการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเป็นรันเวย์ราดแอสฟัลท์ติกคอนกรีต เพิ่มระยะทางทั้งหมด จากรันเวย์ดินลูกรัง 1,500 เมตร เป็นรันเวย์คอนกรีต 1,300 เมตร และเพิ่มระยะวิ่งจาก 980 เมตร ที่รองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดเล็กคาราแวน (CARAVAN) เป็นระยะ 1,200 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดกลางคาซ่า (CASA) และเกิดความปลอดภัยในการบินขึ้น-ลง ของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานของสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ เกิดผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติการฝนหลวงที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ในระยะที่ 2 เพื่อดำเนินการปูยาง A/C Hot Mixed ไหล่ทางวิ่ง ปูยาง A/C Hot Mixed ผิวทางขับ งานลานคอนกรีต ทาสีตีเส้นจราจร งานระบบไฟฟ้าสนามบิน และระบบไฟฟ้าภายใน ซึ่งการดำเนินงานเกิดความล่าช้าเล็กน้อยเนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 65 ที่ผ่านมาเป็นช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างทำให้การดำเนินงานล่าช้า แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรองรับพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกมีจำนวน 12.8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 56 ของพื้นที่ทั้งหมด 22.8 ล้านไร่ ซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานจำนวน 884,354 ไร่ และพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานจำนวน 12 ล้านไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าภาคการเกษตรจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
สำหรับสนามบินท่าใหม่ นอกจากจะเป็นฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงแล้วยังสามารถเป็นสนามบินสำรองหรือสนามบินฉุกเฉิน และสนับสนุนภารกิจทางการทหารและความมั่นคงได้เป็นอย่างดี
อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป