เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
125615
เดือนนี้
5714335
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
กรมฝนหลวงฯ ส่งมอบเครื่องบินปลดประจำการ เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์
28 ธันวาคม 2565 857 ครั้ง
กรมฝนหลวงฯ ส่งมอบเครื่องบินปลดประจำการ เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์
วันที่ 28 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายพิริยะ โตสกุลวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีและสักขีพยานการส่ง-รับมอบเครื่องบินปลดประจำการ
ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อการศึกษาและการอนุรักษ์ ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ณ โรงเก็บเครื่องบิน 4 สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยมี นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมผู้แทนของทั้ง 3 หน่วยงานร่วมลงนามการส่ง-รับมอบเครื่องบินปลดประจำการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หลังจากนั้นคณะผู้บริหารกระทวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเยี่ยมชมการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่และรับฟังการบรรยายสรุปการซ่อมบำรุงอากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอีกด้วย
นายพิริยะ โตสกุลวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการปฏิบัติการฝนหลวงนั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง คือ อากาศยาน ซึ่งต้องมีอากาศยานที่เพียงพอและทันสมัย เพื่อสนับสนุน การปฏิบัติการฝนหลวงให้กับศูนย์/หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 8 ศูนย์/15 หน่วยปฏิบัติการที่กระจาย อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปัจจุบันมีอากาศยานทั้งสิ้น 40 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบิน 32 ลำ ได้แก่ เครื่องบินขนาดเล็ก 12 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง 15 ลำ เครื่องบินขนาดใหญ่ 2 ลำ เครื่องบินปรับความดัน 3 ลำ และเครื่องเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 8 ลำ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน โดยการปฏิบัติการฝนหลวงที่ผ่านมานั้น บางส่วนได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจากกองทัพอากาศสำหรับการปฏิบัติงาน และเนื่องจากอากาศยานที่ใช้ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบันส่วนมากมีอายุการใช้งานเกินกว่า 25 ปีขึ้นไป และบางลำมีสภาพไม่สมบูรณ์เนื่องจากอะไหล่หรือชิ้นส่วนประกอบทางโรงงานได้เลิกการผลิต ประกอบกับลำตัวเครื่องบินมีสภาพสึกกร่อนจากปฏิกิริยาสารฝนหลวงมาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่สามารถทำการซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิมได้และมีผลต่อความปลอดภัยด้านการบิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้จัดทำโครงการจัดหาอากาศยาน ทดแทน เพื่อใช้ในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง โดยจัดหาเครื่องบินทดแทนเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นเวลานานเกินกว่า 25 ปี ขึ้นไปไว้ใช้ในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงและภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถมีอากาศยานในการสนับสนุนภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง สามารถช่วยเหลือและบรรเทาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ทันท่วงทีและครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่น
แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีเครื่องบินปลดระวางไม่ได้ทำการปฏิบัติการ เนื่องจากมีอายุการใช้งานนานกว่า 35 ปี จำนวนทั้งสิ้น 4 ลำ ได้แก่ เครื่องบินขนาดกลาง รุ่น CASA 100 หมายเลขเกษตร 1511 (ประจำการเมื่อ 3 ธันวาคม 2521)
เครื่องบินขนาดกลาง รุ่น CASA 100 หมายเลขเกษตร 1512 (ประจำการเมื่อ 31 ธันวาคม 2521) เครื่องบินขนาดกลาง รุ่น CASA 100 หมายเลขเกษตร 1513 (ประจำการเมื่อ 7 มีนาคม 2524) เครื่องบินขนาดกลาง
รุ่น CASA 100 หมายเลขเกษตร 1514 (ประจำการเมื่อ 15 เมษายน 2524) โดยเครื่องบินทั้ง 4 ลำนี้
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงครุภัณฑ์เครื่องบินชำรุด เสื่อมสภาพและไม่จำเป็นต้องใช้ในราชการต่อไป ทั้งนี้ได้มีหน่วยงานแจ้งความประสงค์ขอรับการสนับสนุนเครื่องบิน
ปลดประจำการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้น ๆ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรบริจาคเครื่องบิน รวมทั้งอุปกรณ์ประจำเครื่องบิน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การบิน (Avionics) จำนวน 4 ลำ ให้หน่วยงานนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 2 ลำ (หมายเลขเกษตร 1513 และ 1514) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 1 ลำ (หมายเลขเกษตร 1511) วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ จำนวน 1 ลำ (หมายเลขเกษตร 1512) เพื่อการอนุรักษ์และให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษาทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน และเพื่อประโยชน์ทางด้านประวัติศาสตร์การบินของประเทศต่อไป
ภาพและวีดีโอ