รมช.เกษตรฯ มอบนโยบายให้ฝนหลวงฯ เน้นย้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ
และการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศอย่างเป็นระบบ
วันที่ 5 มกราคม 2566 เวลา 09.30 น. นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารเดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ณ ห้องประชุมเทวกุล ชั้น 6 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมผู้บริหารกรมฝนหลวงฯ ให้การต้อนรับ และรายงานการดำเนินงานภาพรวมในส่วนต่างๆ ทั้งโครงสร้างอัตรากำลัง ผลการปฏิบัติการฝนหลวงที่ผ่านมา และแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอีกด้วย
นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ซึ่งมีภารกิจเฉพาะด้านในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าไม้และเขื่อนเก็บกักน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาหมอกควันไฟป่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ และประการสำคัญยังมีภารกิจด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง การดัดแปรสภาพอากาศ และปฏิบัติการบินเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นการต่อยอดตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริฝนหลวง ให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และประชาชน ซึ่งการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนงาน ตามนโยบายหลัก 15 ด้าน โดยในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความเกี่ยวข้องด้าน การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมได้มอบแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติม ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาภัยแล้ง ให้ดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรการข้อที่ 3 ปฏิบัติการเติมน้ำทั้งก่อนและตลอดฤดูแล้ง พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงรองรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตร และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม 2.การบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน 3.การจัดหาอากาศยาน อุปกรณ์ และเครื่องมือในการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีความพร้อม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน 4.การบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยดำเนินการตามกรอบความร่วมมือที่มีการประสานหารือไว้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเชื่อมโยง ข้อมูลด้านต่าง ๆ ของหน่วยงาน โดยให้คำนึงถึงความสำคัญของเกษตรกร ยึดหลักการประหยัด ความคุ้มค่า มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และประชาชน และประเทศชาติ ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรทุกคนทำงานด้วยใจที่รักในองค์กร การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การปฏิบัติงานตามภาระกิจอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและทำงานให้สนุกมีความสุขกับการทำงานอีกด้วย