องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ และโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ
วันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง และนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน
และให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บและการบรรเทาปัญหาหมอกควันจากไฟป่า และเข้าร่วมประชุมหารือพร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสภาพอากาศ แผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ โดยนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จากนั้นในช่วงบ่ายเดินทางไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธาราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ติดตามความก้าวหน้าของโครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อับฝนบริเวณภาคเหนือ ซึ่งเป็นเทคนิคการทำฝนทางเลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่ภูเขาสูง โดยใช้พลุสารดูดความชื้น สูตรแคลเซียมคลอไรด์เป็นสารสูตรร้อน เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำ (เมฆ) จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น เร่งกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำและการรวมตัวกันของเม็ดน้ำภายในเมฆ ส่งผลให้เมฆพัฒนาตัวได้ดีและมีขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับกระบวนการทำงานในแต่ละครั้ง จะบรรจุพลุครั้งละ 8 นัด ทำการจุดพลุครั้งละ 1 – 2 นัด (5 – 6 นาทีต่อครั้ง) กลุ่มควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารดูดความชื้นจะลอยเข้าสู่ก้อนเมฆ ทำปฏิกิริยากับเมฆ จนเมฆพัฒนาตัวเป็นเมฆฝนในที่สุด ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในเขตเงาฝน แทนการใช้เครื่องบินปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านการบิน เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานได้
ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเครื่องบินประจำการทั้งสิ้น จำนวน 4 ลำ มีพื้นที่ความรับผิดชอบดูแลจังหวัดภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง และลำพูน ครอบคลุมพื้นที่ 84,249 ตารางกิโลเมตร หรือ 52.66 ล้านไร่ โดยภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ลำไย มะม่วง หอม กระเทียม อีกด้วย ซึ่งจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบนตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2566 มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 วัน รวม 36 เที่ยวบิน ฝนตกจากการปฏิบัติการคิดเป็นร้อยละ 50.0 พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ จำนวน 14.31 ล้านไร่ ด้านภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ มีการขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 6 วัน 8 เที่ยวบิน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 397 นัด ไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย และภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 12 วัน รวม 28 เที่ยวบิน และใช้เฮลิคอปเตอร์ตักน้ำระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2566 จำนวน 4 วัน รวม 42 เที่ยวบิน ตักน้ำได้ปริมาณ 25,200 ลิตร นอกจากนี้ยังได้ย้ำว่าในปีนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะปฏิบัติการฝนหลวงแบบเต็มอิ่ม คือ การระดมทรัพยากรที่มีอยู่ทำฝนในพื้นที่เป้าหมายให้ทันเวลาเมื่อสภาวอากาศพร้อม โดยจะให้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงพร้อมกันหลายชุด และถ้าหากการปฏิบัติในพื้นที่นั้นแล้วเสร็จ แล้วพื้นที่เป้าหมายอื่นมีสภาพอากาศที่เหมาะสมจะย้ายไปปฏิบัติการในพื้นที่นั้นพร้อมกันทันทีเพื่อให้ได้ฝนตกในปริมาณที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่เกษตรกรปลูกพืชไม่เหมือนกันอาจไม่ต้องการน้ำฝน ก็มีการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตได้ ขอให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นในการทำงานของเราที่จะช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ และการเพาะปลูกให้ได้มากที่สุด เพื่อสนองงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป