เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
125615
เดือนนี้
5714335
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
องคมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
7 เมษายน 2566 253 ครั้ง
วันที่ 7 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายสิงหชัย ผ่องบุรุษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์กล่าวต้อนรับ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บรรยายสรุปการปฏิบัติการฝนหลวง และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน เข้าร่วมรายงานสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ในปี 2566 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ 10 จังหวัด เขื่อนเป้าหมาย 5 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดบุรีรัมย์ ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ 10 จังหวัด เขื่อนเป้าหมาย 8 แห่ง โดยวางแผนเตรียมรับมือและรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกและเริ่มมีการขอรับบริการฝนหลวงให้กับพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ได้แก่ พื้นที่ขอฝนสำหรับอ้อยบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พื้นที่ขอฝนสำหรับมันสำปะหลัง บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และนครราชสีมา และพื้นที่ขอฝนสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บริเวณตอนล่างของจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนบางแห่งเริ่มมีปริมาณน้ำเก็บกักลดลง กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ณ สนามบินกองบิน 1 อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 มีเครื่องบินขนาดกลาง (CASA) จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินของกองทัพอากาศ ชนิด AU-23A จำนวน 3 ลำ ประจำการ และมีเครื่องบินขนาดใหญ่ (CN) มาสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 1 ลำ ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป พร้อมกับ เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่ม ณ สนามบินกองบิน 21 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศ ชนิด BT-67 จำนวน 1 ลำ ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ประจำการเพื่อปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยการช่วยเหลือที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี และจะจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น ณ ท่าอากาศยานขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป โดยใช้เครื่องบินขนาดกลาง (CASA) จำนวน 2 ลำ ประจำการนอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้ปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาและลดความหนาแน่นของหมอกควันและฝุ่นละอองให้เบาบางลง และเดินหน้าปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โดยปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อให้มีปริมาณน้ำเต็มอิ่ม เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และยังเป็นการสนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรอีกด้วย
ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งเมืองทอง ชุมชนบ้านตามา ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งเมืองทอง ซึ่งเริ่มต้นก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์มีการจัดอบรมหลักสูตรวิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพาตนเองและพึ่งพากันเอง ซึ่งชาวบ้านได้นำความรู้ แนวคิดกลับมาพัฒนาพื้นที่ของตนเองด้วย “แผนกู้ชาติด้วยยุทธศาสตร์กล้วย ๆ” คือ การทำเกษตรประณีต เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยใช้ “กล้วย” เป็นตัวนำในการปลูกต้นไม้ที่จะคืนป่าให้แผ่นดิน การดำเนินงานดังกล่าวพัฒนาเรื่อยมาจนในปี พ.ศ. 2554 ศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ดำเนินโครงการวิจัยด้านการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยการขุดคลองไส้ไก่รอบพื้นที่ มีการพัฒนาและติดตั้งระบบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกิดการกระจายน้ำไปยังพื้นที่ของเกษตรกรที่เพาะปลูกได้อย่างทั่วถึงจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีผู้คน หน่วยงานต่าง ๆ มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องและในปี พ.ศ. 2555 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ได้สนับสนุนงบประมาณสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อรองรับกิจกรรมการฝึกอบรมและรับรองกลุ่มบุคคล หน่วยงานที่เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ดังกล่าว และพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งเมืองทอง”

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 มีการดำเนินการบริหารจัดน้ำชุมชนที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์สนับสนุนโครงการขุดลอกหนองน้ำตามโครงการแผนจัดการน้ำชุมชน ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำและปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อด้านคุณภาพชีวิตของชาวบ้านและสภาพแวดล้อมทั้งพื้นที่ของชุมชน อีกทั้งสามารถแก้ปัญหา
ภัยแล้งให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2565 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบุรีรัมย์
(กอ.รมน.) ได้นำโครงการจัดการพื้นที่ภัยแล้งด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงวิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมทีมวิจัยในพื้นที่ตำบลชุมแสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และได้นำเสนอโครงการขุดลอกหนองตาแบนอีกครั้งจนแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการจัดการดิน น้ำ ป่า เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือเป้าหมายหลักที่สำคัญในการร่วมสร้างชุมชนบ้านตามา ชุมชนบ้านสุขวัฒนา และชุมชนบ้านสุขสำราญให้มีความน่าอยู่ มีความอุดมสมบูรณ์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ก่อเกิดการเป็นต้นแบบที่เป็นรูปธรรมรองรับการขยายผลไปในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์ในลำดับต่อไป
ภาพและวีดีโอ