เปลี่ยนการแสดงผล
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ลงนาม MOU ในการพัฒนาข้อมูลสารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์แก่เกษตรกร
10 สิงหาคม 2566 168 ครั้ง
วันที่ 10 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับกรมส่งเสริมการเกษตร ณ ห้องประชุมเทวกุล ชั้น 6 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยได้รับเกียรติจาก นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีการลงนามฯ ซึ่งการลงนามในวันนี้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำบนชั้นบรรยากาศ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ ที่ได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวง และได้ทำการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังได้ทำการพัฒนาชุดข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ในระบบภูมิสารสนเทศฝนหลวง หรือ ฝนหลวง จีโอแมป (Fonluang Geo-Map) เป็นชุดข้อมูลที่แสดงถึงความต้องการน้ำของพืชตามช่วงเวลาการเพาะปลูก การเจริญเติบโต ปริมาณฝนสะสมรายวัน รายสัปดาห์ ข้อมูลจำนวนผู้ขอรับบริการฝนหลวง ข้อมูลเชิงพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่มีสภาพการขาดน้ำในดิน หรือมีสภาพคความชื้นในดินอย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาร่วมกับข้อมูลสภาพอากาศประจำวัน ให้กับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศใช้ประกอบการวางแผนทำฝนประจำวัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับกับภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ได้มีการพัฒนาชุดข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่เช่นกัน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ในด้านข้อมูลเกษตรกรและแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ตามช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ที่มีฐานข้อมูลของเกษตรกรจำนวนหลายล้านคน และในวันนี้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการดำเนินงานร่วมมือด้านวิชาการกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการเชื่อมโยงข้อมูลให้ตรงและทันกับช่วงเวลานั้นๆ (Real Time) ให้มากที่สุด และจะให้บริการข้อมูลเหล่านี้แก่ประชาชนในช่องทางโมบาย แอปพลิเคชั่น “ขอฝน” บนโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ การขอรับบริการฝนหลวง แจ้งข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกร แจ้งข้อมูลสภาพอากาศประจำวัน เป็นต้น เพื่อบริการแก่ประชาชนทั่วไป และเกษตรกรแบบเชิงรุก นำไปประกอบการตัดสินใจในการเพาะปลูกให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุด
นอกจากนี้ นายสุพิศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการดำเนินความร่วมมือด้านวิชาการนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เป็นการทำงานแบบบูรณาการข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล การวิจัยพัฒนา และพัฒนาบุคลากรร่วมกัน ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้ทำการตกลงกำหนดขอบเขตความร่วมมือ ในด้านข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล จะมีการแลกเปลี่ยน สนับสนุนข้อมูลฯ ซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการน้ำ การดัดแปรสภาพอากาศ ด้านการส่งเสริมการเกษตร ข้อมูลข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านการเกษตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองฝ่ายและประชาชน นอกจากนี้จะร่วมกันวิจัย พัฒนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร โดยจะมีการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักวิจัยของทั้งสองหน่วยงาน ในการศึกษาดูงาน การฝึกภาคปฏิบัติ การบรรยายเชิงวิชาการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านวิชาการ ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ การดัดแปรสภาพอากาศ ด้านการส่งเสริมการเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกร ให้การดำเนินงานทั้งสองหน่วยงานสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570 ให้ประสบผลสำเร็จสูงสุดต่อไป
ภาพและวีดีโอ