เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรีประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 2/2566
12 สิงหาคม 2566 307 ครั้ง
วันนี้ (11 สิงหาคม 2566) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง และนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 2/2566 เพื่อติดตามการดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านการปฏิบัติการฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 การเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ การยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ การเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม และการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยมีผลการปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2566 มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 18 หน่วย ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง รวม 140 วัน 3,143 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 66 จังหวัด พื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 176.38 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 246 แห่ง ปริมาณน้ำ รวม 410.38 ล้านลูกบาศก์เมตร (เขื่อนขนาดใหญ่ 33 แห่ง ขนาดกลาง 213 แห่ง) สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้เป็นอย่างดี อาทิ เช่น
- ปฏิบัติการฝนหลวงควบคู่กับการพ่นละอองน้ำในอากาศ เพื่อลดความหนาแน่นของฝุ่นละออง
ขนาดเล็กและหมอกควัน ในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
- ปฏิบัติการฝนหลวงลดการลุกลามของไฟป่าและหมอกควันในเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบริเวณเขาชะพลู-เขาแหลม จ.นครนายก
- ปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาและลดความเสียหายจากปัญหาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จากพายุฤดูร้อนโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
- ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง เช่น การทำฝนช่วยเหลือพื้นที่ปลูกทุเรียนของ จ.ชุมพร ช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวบริวเวณทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ศรีสะเกษ การเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำใน อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
ด้านความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีความร่วมมือกับกองทัพอากาศ
มาอย่างต่อเนื่องในการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้เสริมการปฏิบัติการฝนหลวง ลดและแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการทำงาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งมีความก้าวหน้า ประกอบด้วย 1) โครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยในปี 2566 ได้นำนวัตกรรมใหม่จากโครงการวิจัยมาประยุกต์ใช้ปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เกษตรโดยรอบ ในระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2566 (ปฏิบัติการจำนวน 16 วัน) 2) โครงการวิจัยและพัฒนาเครื่องบินเป้าอากาศไร้นักบิน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น ซึ่งในปี 2566 ได้ดำเนินการประชุมร่วมกับกองทัพอากาศ เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนาต่อยอด และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติการฝนหลวง 3) โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้ดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้มีการส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศไปใช้ประโยชน์ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีในการพัฒนาและการนำจรวจดัดแปรสภาพอากาศมาใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง และเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาและการนำจรวจดัดแปรสภาพอากาศมาใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง 4) โครงการศึกษาวัสดุธรรมชาติเพื่อใช้ในการทำฝน
เมฆเย็น และสารฝนหลวงทางเลือก ประกอบด้วย การศึกษาและค้นหาคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของวัสดุธรรมชาติให้มีคุณสมบัติเป็นแกนน้ำแข็ง พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ทำฝนเมฆเย็น และทดสอบประสิทธิภาพวัสดุธรรมชาติเปรียบเทียบกับซิลเวอร์ไอโอไดด์ และการวิจัยการใช้สารฝนหลวงทางเลือกสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อขยายผลการใช้สารฝนหลวงทางเลือกในการปฏิบัติการฝนหลวง
ความก้าวหน้าการดำเนินความร่วมมือด้านฝนหลวงต่างประเทศ มีความร่วมมือด้านฝนหลวงกับประเทศมองโกเลีย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวงและแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยในปีนี้ได้มีการจัดโครงการฝึกอบรมการประเมินผลปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศให้แก่บุคลากรมองโกเลียตามแผนพัฒนาเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศของมองโกลเลีย ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 17 – 21 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังมีการจัดทำโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างผืนป่า เสริมความชื้น เพิ่มโอกาสการทำฝน เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดเกี่ยวกับ “ศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งในปี 2566ใช้เมล็ดพันธุ์พืช จำนวน 12 ชนิด ได้แก่ 1.กระพี้จั่น 2.แดง 3.ทิ้งถ่อน 4.พะยูง 5.มะขามป้อม 6.มะค่าแต้
7.มะค่าโมง 8.โมกมัน 9.ราชพฤกษ์ 10.สมอพิเภก 11.สัก และ 12.อะราง (นนทรีป่า) โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน ร่วมกิจกรรมปั้นดินหุ้มเมล็ดพันธุ์ และนำไปโปรยบริเวณอุทยานแห่งชาติ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จังหวัดเชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จังหวัดหนองบัวลำภู อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี โดยเป็นการดำเนินการหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการทำฝนประจำวันในแต่ละพื้นที่อันจะเป็นการเพิ่มต้นทุนความชื้นสัมพัทธ์ให้กับระบบนิเวศทางธรรมชาติ และเป็นต้นทุนความชื้นในชั้นบรรยากาศที่สำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงต่อไป
ภาพและวีดีโอ