เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
125615
เดือนนี้
5714335
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.ตาก ตรวจเยี่ยมติดตามผลปฏิบัติการฝนหลวง ปี 66
3 พฤศจิกายน 2566 159 ครั้ง
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดตาก นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดตากเพื่อติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2566 โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และรายงานผลการปฏิบัติงาน
.
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ในปี 2566 หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติด้านต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ปัญหาความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ไฟไหม้ป่า รวมถึงความต้องการน้ำของพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้มีฝนตกน้อยในหลายพื้นที่ ทำให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงเป็นจำนวนมาก และจากการปฏิบัติการฝนหลวงตลอดทั้งปีที่ผ่านมาของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวให้แก่พี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ รวม 20 หน่วย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 ตุลาคม 2566 ปฏิบัติการฝนหลวง 193 วัน รวม 4,097 เที่ยวบิน มีฝนตก 186 วัน คิดเป็น 96.37% มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 67 จังหวัด พื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 193.94 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 272 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 238 แห่ง) ปริมาณน้ำสะสม 615.21 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 3 หน่วย ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – 31 ตุลาคม 2566 ปฏิบัติการฝนหลวง 14 วัน รวม 91 เที่ยวบิน มีฝนตก 14 วัน คิดเป็น 100% มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 11 จังหวัด พื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 17.5 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 63 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ขนาดกลาง 57 แห่ง) ปริมาณน้ำสะสม 21.55 ล้าน ลบ.ม.) โดยหลังจากนี้ที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการ ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมวางแผนการปฏิบัติการในปี 2567 ทั้งด้านบุคลากร
อากาศยาน และเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมต่อการทำงาน และติดตามสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อาจเริ่มส่งผลกระทบบริเวณภาคเหนือในช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า
.
ด้านนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการดำเนินงานการปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังมีการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดการบินดัดแปรสภาพอากาศ ณ สนามบินตาก อำเภอเมือง จังหวัดตาก เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดการบินปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่สนใจด้านการบินปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศ ทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อเพิ่มศักยภาพความเชี่ยวชาญด้านการบินดัดแปรสภาพอากาศให้แก่บุคลากรด้านการบินของกรมฝนหลวงและการเกษตร รวมถึงยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านการบินเกษตรอีกด้วย โดยมีแผนการดำเนินงานระหว่างปี 2569-2571 ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารสำนักงาน/โรงเก็บอากาศยาน (Hangar)/ ห้องฝึกอบรม (Simulator) ก่อสร้างอาคารที่พักเจ้าหน้าที่
จัดหาบริภัณฑ์ภาคพื้น/สถานีน้ำมัน (Tank farm)/รถน้ำมัน/สถานีดับเพลิง/รถดับเพลิง ก่อสร้างลานจอดและทางวิ่ง (Taxiway) และการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์เครื่องบินปฏิบัติการฝนหลวง
.
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขานรับแนวทางการดำเนินงานจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในช่วงเวลาหลังจากนี้จะมีการซ่อมบำรุงอากาศยานประจำปี การฝึกบินทบทวนของนักบิน การทบทวนความรู้และการถอดบทเรียนการปฏิบัติงานของนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ ตลอดจนการพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2567 ซึ่งพี่น้องเกษตรกร ประชาชน สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรและแจ้งความต้องการน้ำในพื้นที่ได้ทุกวัน เพื่อทางเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนช่วยเหลือต่อไป นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพและวีดีโอ