นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดปฏิบัติการฝนหลวง บรรเทาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2567
วันที่ 11 มกราคม 2567 เวลา 09.45 น. ณ บริเวณท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธี โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวให้การต้อนรับ เพื่อปฏิบัติการรับมือกับสภาพอากาศพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน ที่มักประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นภารกิจตามยุทธศาสตร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นอกจากนี้ยังได้มีการเข้าร่วมประชุมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวง ณ หอประชุมเดชะตุงคะ กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังรายงานสรุปแผนการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การรายงานสรุปสถานการณ์สภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา การรายงานสรุปแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการรายงานแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและตรวจติดตามความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 และรับชมการสาธิตวิธีการพ่นละอองน้ำแรงดันสูงของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อีกด้วย
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับในปี 2567
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ช่วยเหลือพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 15 จังหวัด
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วจังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา ช่วยเหลือพื้นที่ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา ช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นอกจากนี้ยังได้มีแผนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 จำนวน 14 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในการเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้บรรเทาและป้องกันการเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 การเติมน้ำต้นทุน
ให้กับอ่างเก็บน้ำ บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ ได้กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งจะใช้เครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขนาดใหญ่ จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 4 ลำ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์พ่นละอองน้ำสู่ชั้นบรรยากาศ เครื่องบินขนาดเล็ก จำนวน 4 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 ลำ พร้อมชุดกระเช้าตักและโปรยน้ำดับไฟป่า โดยมีแผนดำเนินงานและปฏิบัติการหลักคือ ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อเร่งกระบวนการธรรมชาติทำให้เกิดเป็นเม็ดน้ำ โดยเม็ดน้ำพัฒนาตัวเป็นเม็ดฝนตกลงมาเป็นน้ำฝน ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อดัดแปรสภาพอากาศให้มีช่องในการเคลื่อนตัวของกระแสอากาศไหลขึ้นจากชั้นอากาศที่ปิดกั้นอยู่ในพื้นที่ต้องการ เพื่อเร่งกระบวนการธรรมชาติ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ลงได้ และ การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการบูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดเชียงใหม่ ในภารกิจการทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ลาดสูงชัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปถึงได้ เพื่อสามารถบรรเทาปัญหาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการปฏิบัติการทำฝนบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มีประยุกต์ใช้ โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำการวิจัยและทดสอบการประยุกต์ใช้อากาศยานสำหรับพ่นละอองน้ำแรงดันสูงเพื่อควบคุมและบรรเทาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ระดับความสูง 5,000-6,000 ฟุต หรือประมาณ 1,700-2,000 เมตร โดยใช้ท่อโปรยติดตั้งบนอากาศยานชนิด CASA และ CN-235 และติดเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมกับบรรจุถังน้ำ จำนวน 3 ถัง ที่สามารถบรรจุน้ำปริมาตรรวมทั้งหมดได้กว่า 2,000 ลิตร และใช้แรงดันในการส่งน้ำไปยังหัวฉีดทั้ง 12 หัว ที่ติดตั้งอยู่ใต้เครื่องบิน ซึ่งจากการทดสอบที่ผ่านมา พบว่า การกระจายตัวของละอองน้ำที่ภาคพื้น หัวฉีดสามารถทำระยะการพ่นไกลได้สูงสุดถึง 10 เมตร และครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางเมตร โดยจะทำการปล่อยละอองน้ำเป็นระยะเวลา 40 นาทีต่อรอบการปฏิบัติ และพบว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะสามารถเพิ่มความชื้นและช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งในปี 2567 จึงได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการให้เร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์สภาพอากาศที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร งดการเผาทุกประเภท เพื่อช่วยกันลดปัญหามลพิษจากหมอกควันและฝุ่นละออง และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถาน และสามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr