เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
120455
เดือนนี้
5709175
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่
17 มกราคม 2567 214 ครั้ง
วันที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 09.45 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานราชการในจังหวัดแพร่ ร่วมพิธีเปิดสถานีเรดาร์ฯ ณ สถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง โดยตั้งอยู่เลขที่ 6/1 หมู่ 5 ตำบลทุ่งศรี อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ มีเนื้อที่รวม 10 ไร่ ตัวอาคารสถานีเรดาร์เป็นอาคารปูนสูง 7 ชั้น จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการติดตามและศึกษากลุ่มเมฆฝน ตรวจวัดทิศทาง และความเร็วของการเคลื่อนที่ของกลุ่มฝน ตรวจสอบปริมาณน้ำฝน ติดตามลักษณะทางกายภาพของกลุ่มฝน การพยากรณ์อากาศ และการแจ้งเตือนภัยที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมทั้งสามารถประมวลผลฐานข้อมูลในทางอุตุนิยมวิทยา โดยจะนำการประมวลผลต่างๆ ที่ได้มาประกอบการวางแผนและการประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ในภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้งให้แก่เกษตรกร และเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อนเก็บกักน้ำ นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิบัติการฝนหลวงและประสิทธิภาพการทำงานในอนาคต โดยภายในสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวางได้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำงาน ประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจอากาศ ชนิด S-Band มีรัศมีการตรวจ 240 กิโลเมตร ทางภาคเหนือตอนบนฝั่งตะวันออกครอบคลุม 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เลย และบางส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ตาก และแม่ฮ่องสอน เครื่องตรวจอากาศชั้นบน สำหรับตรวจสภาพอากาศที่มีความสูงประมาณ 15 – 30 กิโลเมตรจากพื้นดิน มีรัศมีการตรวจประมาณ 30 – 70 กิโลเมตร เครื่องตรวจอากาศผิวพื้น สำหรับตรวจสภาพอากาศผิวพื้นบริเวณสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง เครื่องตรวจอากาศชั้นบน แบบคลื่นสั้น สำหรับการตรวจสภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ในรัศมี 10 กิโลเมตร ระบบถังวัดน้ำฝนอัตโนมัติ โดยทำการติดตั้งถังวัดน้ำฝนจำนวน 50 ถัง รอบรัศมี 240 กิโลเมตร ครอบคลุม 15 จังหวัด และโปรแกรม TITAN สำหรับการพยากรณ์สภาพอากาศและติดตามเส้นทางการบินปฏิบัติการฝนหลวง
นอกจากนี้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เริ่มต้นสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง ในระยะที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2563 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นการนำเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝน ชนิด C Band ความถี่ 5.6 GHz. ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ โดยมีความสามารถในการตรวจสภาพได้เช่นกันมาใช้ตรวจสภาพอากาศในบริเวณนี้ ส่วนในระยะที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2564 - 2566 ได้ทำการปรับปรุงเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มระบบถังวัดระดับน้ำฝนแบบอัตโนมัติ จำนวน 50 จุด ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 240 กิโลเมตร และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และระยะที่ 3 ระยะสุดท้ายปี พ.ศ. 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยการก่อสร้างตัวอาคารได้เริ่มมาดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ให้เป็นแบบสถานีแบบประจำที่ชนิด S-Band ความถี่ 2.8 GHz. แบบ Dual Polarization เพราะในภูมิภาคภาคเหนือฝั่งตะวันออกนั้น สถานีเรดาร์อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รัศมีการตรวจวัดสภาพอากาศไม่ครอบคลุมบริเวณนี้ ซึ่งเท่ากับว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระงานของสถานีเรดาร์ฝนหลวงที่อื่นๆ ด้วยและที่มากไปกว่านั้นสามารถตรวจวัดสภาพอากาศบางส่วนของจังหวัดเลย อุดรธานี ได้เช่นกัน ทำให้การส่งต่อข้อมูลสภาพอากาศประจำวันให้กับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงต่าง ๆ นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลการตรวจสภาพอากาศเหล่านี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ นำข้อมูลไปประกอบการทำงานได้อีกด้วย สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่หน้าหลักของเว็บไซต์ เมนู “ข้อมูลสภาพอากาศ” ซึ่งจะสามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการตัดสินใจและวางแผนการเพาะปลูก หรือพ่อค้า แม่ค้า สามารถนำข้อมูลสภาพอากาศไปประกอบได้ว่า หากขณะนี้มีกลุ่มฝนเคลื่อนตัวมาบริเวณสถานที่ค้าขาย พ่อค้าแม่ค้าจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝนหรือไม่ ภารกิจดังกล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า งานโครงการในพระราชดำริฝนหลวง ที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้สานต่อเป็นงานที่มีความสำคัญต่อประชาชนอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงแล้ง หรือในช่วงที่บางพื้นที่ของประเทศประสบปัญหามลพิษ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หมอกควัน ไฟป่า ก็สามารถช่วยบรรเทาและคลี่คลายได้ ขอให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นในการทำงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการปฏิบัติภารกิจสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร จากนั้น
 
ในช่วงบ่าย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ถางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านเวียง อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของการปฏิบัติการฝนหลวง ในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำต่าง ๆ รวมทั้งบรรเทาภาวะวิกฤตภัยแล้ง และปัญหาหมอกควันและไฟป่า (อ่างเก็บน้ำแม่ถาง เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2523 พระราชทานพระราชดำริ ว่า “ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำยม ให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้” )
ภาพและวีดีโอ