วันที่ 25 มกราคม 2567 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีงานวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครอบรอบปีที่ 11 “11 ปีฝนหลวง ต่อยอดนวัตกรรม นำเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน” พร้อมอ่านสารอำนวยพรจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมอบโอวาทให้แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติหน้าที่ โดยในช่วงเช้า นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ สักการะ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และประกอบพิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคล
หลังจากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ “เปิดบ้านฝนหลวง ปี 2567” Fonluang Open House 2024 ณ บริเวณ
ลานสนามหญ้า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 26 มกราคม 2567 เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวการนำองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศไปประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีและความเข้มแข็งของหน่วยงาน และเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจในบทบาท หน้าที่ และภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยภายในงานมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “11 ปีฝนหลวง ต่อยอดนวัตกรรม นำเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการทำฝน” การนำเสนองานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ฝนหลวง จำนวน 19 เรื่อง กิจกรรม Play & learn จำนวน 6 บอร์ด ได้แก่ บอร์ดงานสายรุ้ง บอร์ดปรุงผสมบดโปรยสาร บอร์ดไอที Smart บริการ บอร์ดบริหารจัดการด้านการบิน บอร์ดฟินไปกับฝนฟ้าและอากาศ บอร์ดรับมือภัยธรรมชาติ บนเส้นทางความยั่งยืน และการจัดแสดงเครื่องบินปฏิบัติการฝนหลวงยุคแรกเริ่มแบบ CESSNATU 206G โดยเปิดให้นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ โดยนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มอบหมายให้ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร เป็นประธาน ในพิธีลงนามร่วมกับ 4 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1) ด้านการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงนามความร่วมมือกับ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจัดทำโครงการบัญชีฟรุตพริ้นท์องค์กร เพื่อศึกษาและจัดทำบัญชีคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรและขอรับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตลอดจนจัดทำแผนนโยบายการจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป และ 2) ด้านการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่นพิษ PM2.5 ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) ในการศึกษาพัฒนาแบบจำลองชั้นบรรยากาศในแนวดิ่งที่สัมพันธ์กับ PM2.5 ความเข้มข้นสูงจากการหยั่งอากาศด้วยบอลลูน มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ในการพัฒนาแบบจำลองการเกิดเมฆที่เป็นฝนมาจากฝุ่น PM2.5 ในช่วงที่มีค่าเกินค่ามาตรฐาน กรณรศึกษาเติมสารดูดความชื้น และมหาวิทยาลัยศิลปกร ในการศึกษาคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของเมฆฝน (rain cloud) จากข้อมูลดาวเทียม Himawari เพื่อการพัฒนา Application แสดงค่า PM2.5 และคุณสมบัติของเมฆบนมือถือ ซึ่งจากปัญหาสำคัญทั้ง 2 ด้าน เป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชน
โดยรัฐบาลได้มีแนวทางและพยายามเร่งแก้ไข เพื่อลดการเพิ่มอุณภูมิของโลก ดังจะเห็นจากเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 ภายใต้ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการเผาอย่างจริงจัง ด้วยการติดตามสถานการณ์ บูรณาการสั่งการป้องกันและควบคุมการเผา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบในการเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของภาวะโลกร้อนด้วยกิจกรรมของภาคการเกษตร ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ตลอดจนมีนโยบายป้องปรามการเผา และเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร เพื่อลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลให้ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างยั่งยืน
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมุ่งมั่นสืบทอดพระราชปนิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน และยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ในขณะเดียวกันก็ยังมีการวิจัย พัฒนาความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศอย่างไม่หยุดยั้งควบคู่ไปด้วย เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดในการช่วยเหลือประชาชน สำหรับในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงพัฒนาเพื่อเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานภายในปี 2580 และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเตรียมพร้อมอากาศยาน นักบิน นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งในปี 2567 ได้มีการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วบรรเทาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ มาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ 15 จังหวัดภาคเหนือ และเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน ที่มักประสบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และมีแผนที่จะเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้
เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป