วันที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.แพร่ ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ณ ท่าอากาศยานแพร่ อ.เมือง จ.แพร่ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติงาน พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่างยังอยู่ในสภาวะวิกฤต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นวงกว้าง
ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระดมเครื่องบินฝนหลวงปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานและปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ และกำชับให้ปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็ว รวมถึงดูแลช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ลุ่มรับน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ดร.ไชยา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก รับผิดชอบดูแลพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ ได้เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ และบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2567 เป็นต้นมา
โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จ.พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 17 - 31 มกราคม 2567 และวันที่ 12 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ใช้เครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตรชนิด CN-235 จำนวน 1 ลำ ขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่ จ.แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และ จ.ตาก รวมทั้งสิ้น 21 วัน 33 เที่ยวบิน ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ ณ ท่าอากาศยานแพร่ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าไม้ และบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยใช้เครื่องบินชนิด CASA จำนวน 1 ลำ ขึ้นบินปฏิบัติการในพื้นที่ จ.แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 10 วัน 10 เที่ยวบิน ซึ่งทำให้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ที่ปฏิบัติการมีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงนี้ จะเน้นช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ จ.แพร่ น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ สำหรับสถานการณ์ความต้องการน้ำในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ที่เป็นพื้นที่การเกษตรใน จ.แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิจิตร และกำแพงเพชร รวมถึงพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 14 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
โดยในเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ และ จ.เชียงใหม่ มีภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 และ PM2.5) โดยใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ เครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ ช่วยเหลือพื้นที่ จ.พะเยา แพร่ น่าน และภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์
ทั้งนี้ ดร.ไชยา ได้มีนโยบายถึงการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจะใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเพิ่มการดูดซับฝุ่นละอองของเมฆให้มากขึ้น โดยหากได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะมีการจัดตั้งโรงผลิตน้ำแข็งแห้งสำหรับใช้ในการช่วยเหลือพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่างมากขึ้นอีกด้วย