วันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินค่ามาตรฐาน ณ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พร้อมเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ติดอันดับโลก และยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ พบว่า
มีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ เฉลี่ยเป็นค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2567 ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในระยะแรก โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ดร.ไชยา กล่าวว่า ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. โดยเน้นย้ำในพื้นท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้กับพี่น้องประชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน จึงได้สั่งการให้นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร วางแผนในเดือนเมษายน 2567 โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการฝนหลวง รวมถึงใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศในการบรรเทาปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเพิ่มเครื่องบินมาปฏิบัติการที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ จากเดิม 3 ลำ เป็น 8 ลำ และปรับแผนการบินปฏิบัติการให้มีความถี่มากขึ้น โดยมีเป้าหมายบินปฏิบัติการรวม 100 เที่ยวบิน ในช่วงวันที่ 10-20 เมษายน 2567 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ตนมั่นใจว่า สงกรานต์ปีนี้ จ.เชียงใหม่ ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองจะดีขึ้น ซึ่งวันนี้ตนจะขึ้นปฏิบัติการบินทำฝนหลวงด้วยตนเอง ซึ่งจากการปฏิบัติการปรากฏว่า มีฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น ค่าฝุ่นละอองลดลง อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น จึงอยากให้พี่น้องประชาชนได้มีความมั่นใจ ว่าสถานการณ์เรื่องฝุ่นละอองจะลดลง เพื่อให้การท่องเที่ยวสงกรานต์ปีใหม่นี้ ประชาชนมีความสุข ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้เม็ดเงินใหลเข้ามาในประเทศ และเป็นการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ
โดยมีแผนปฏิบัติงานช่วงวันที่ 11-20 เมษายน 2567 ได้แก่
1. ปฏิบัติการบรรเทาปัญหาหมอกควัน PM2.5 โดยการก่อเมฆ-เลี้ยงเมฆ รวมถึงการใช้น้ำแข็งแห้งและสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิ บริเวณพื้นที่ที่ค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานและมีแนวโน้มการสะสมฝุ่นควันสูง
2. ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้เกิดฝนในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ ลดการเกิดไฟป่า
3. ปฏิบัติการบรรเทาการเกิดพายุลูกเห็บ โดยมีโอกาสในการปฏิบัติการสูงในช่วง 9 -15 เมษายน 2567 สำหรับผลปฏิบัติการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ช่วงระหว่างวันที่ 8 มกราคม – 10 เมษายน 2567 ปฏิบัติการจำนวน 79 วัน 282 เที่ยวบิน ในบริเวณ 15 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ จ.พะเยา จ.แม่ฮ่องสอน จ.แพร่ จ.น่าน จ.สุโขทัย จ.เชียงราย จ.อุตรดิตถ์ จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิจิตร ซึ่งพบว่าหลังปฏิบัติการส่งผลให้บริเวณพื้นที่ที่ปฏิบัติการค่าฝุ่นลดลง โดยในช่วงเช้าของวันนี้พบว่า มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับปานกลาง ตรวจวัดได้ 34.7 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลจาก IQ Air ณ วันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 08.00 น.)