เปลี่ยนการแสดงผล
ฝนหลวง วางแผนช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำเร่งเติมน้ำลงเขื่อน พร้อมติดตามโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชฯ “ขาไปทำฝน ขากลับสร้างป่า”
16 สิงหาคม 2567 17 ครั้ง
วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มอบหมายให้ นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง เป็นประธานในการจัดประชุมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และพื้นที่ที่ได้รับน้ำฝนเพียงพอแล้ว ซึ่งจากการรายงานผลปฏิบัติการ ในช่วงระหว่างวันที่ 9-15 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบปริมาณฝนตกสะสม จำนวน 50 – 100 มิลลิเมตร โดยในขณะนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นเป็นระยะๆ ส่งผลให้ประเทศไทยอาจมีฝนตกหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีจำนวนประชาชนผู้ขอรับบริการฝนหลวงติดต่อเข้ามายังกรมฝนหลวงและการบินเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นที่บางแห่งยังมีฝนตกน้อยไม่เพียงพอต่อพืชผลทางการเกษตร และปัญหาขาดแคลนน้ำด้านอุปโภค-บริโภค รวมถึงปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนบางแห่งมีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 30% เช่น เขื่อนแม่มอก มีปริมาณน้ำใช้การได้ 30% เขื่อนทับเสลา 30% เขื่อนกระเสียว 25% และเขื่อนคลองสียัด 25% (ข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567 จากกรมชลประทาน)
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงพิจารณาขึ้นบินปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ยังต้องการน้ำฝน รวมถึงการเติมน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ และเน้นให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพออยู่แล้ว หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และทรัพย์สินของประชาชน โดยขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ในเขตลุ่มรับน้ำเขื่อนเจ้าพระยา หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และเติมน้ำให้เขื่อนปราณบุรี
นอกจากนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงดำเนินการโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศฯ โดยทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติฝนหลวง “ขาไปทำฝน ขากลับสร้างป่า” ซึ่งขณะนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชครบ100% แล้ว หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการไปแล้ว 40% สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในภูมิภาคอื่นๆ ยังคงติดตาม ประเมินผลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้ประชาชน และเกษตรกรสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละพื้นที่ และขอรับบริการฝนหลวง โดยผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊กกรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, X, Line official : @drraa_pr , YouTube ช่องใต้ปีกฝนหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100-18 ในวันและเวลาราชการ
ภาพและวีดีโอ