เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
85350
เดือนนี้
5539458
เมื่อวาน
255142
เดือนที่แล้ว
6499777
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งแผนดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ AWMC
18 ตุลาคม 2567 53 ครั้ง
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการถาวรของศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน (ASEAN Weather Modification Centre : AWMC) เป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2567 (ASEAN Regional Seminar on Weather Modification 2024) ระหว่างวันที่ 18 - 22 ตุลาคม 2567
วันที่ 18 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2567 (ASEAN Regional Seminar on Weather Modification 2024) โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร พร้อมด้วยผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนหน่วยงานความร่วมมือ และผู้แทนหน่วยงานร่วมบูรณาการเข้าร่วม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พร้อมเปิดเผยว่า จากประเด็นเรื่องน้ำที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน หรือปัจจุบันได้ยกระดับให้เป็นภาวะโลกเดือดแล้ว ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว อันนำมาสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือน้ำท่วม สภาวะเหล่านี้ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำและอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความจำเป็นที่ต้องรักษาแหล่งทรัพยากรน้ำและอาหารนี้ให้คงอยู่ การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว
การดัดแปรสภาพอากาศจึงเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มปริมาณฝนในพื้นที่แห้งแล้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความท้าทายดังกล่าวในระยะยาว ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริโครงการฝนหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้สนองและสืบสานพระราชประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพื่อความอยู่ดี กินดีและมีความสุข ตลอดจนมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีฝนหลวง ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สำหรับนำมาใช้ในการป้องกัน บรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งร่วมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคการเกษตร และรักษาระบบนิเวศของประเทศด้วย
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการอาเซียนด้านอุตุนิยมวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (ASEAN SCMG) ครั้งที่ 41 ได้จัดการประชุม ระหว่างวันที่ 6 - 8 ตุลาคม 2562 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และเห็นชอบในการผลักดันการดำเนินความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดตั้งศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน (ASEAN Weather Modification Centre : AWMC) อันจะเป็นศูนย์การแลกเปลี่ยน และหารือ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำร่วมกันในภูมิภาคต่อไป ซึ่งประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับหน้าที่ให้เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในการจัดทำหลักการและขอบเขตการทำงานของ AWMC ต่อมาที่ประชุม ASEAN SCMG ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้อนุมัติหลักการและขอบเขตการทำงานของ AWMC ดังกล่าว พร้อมทั้งได้รับความเห็นชอบโดยคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ASEAN Committee on Science, Technology and Innovation - COSTI)
เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอัศวินแกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร โรงแรมดีวารี พัทยา และการศึกษาดูงานในพื้นที่ภาคตะวันออก มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 95 ราย ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายไทย ได้แก่ นักวิชาการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 65 ราย และผู้แทนหน่วยงานความร่วมมือ จำนวน 11 ราย ในส่วนของผู้แทนจากต่างประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 22 ราย ประกอบด้วยผู้แทนจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ มองโกเลีย ศรีลังกา และประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ อันเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการดัดแปรสภาพอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสมาชิกศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียนให้มีความรู้ และเกิดทักษะที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย จนสามารถร่วมดำเนินโครงการความร่วมมือให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดการความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนา วิจัยและปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ และสามารถนำมาปรับใช้กับเทคนิคของแต่ละประเทศได้อย่างเหมาะสม และร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานภายใต้ศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน โดยจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นเครื่องมือและกลไกสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และบรรเทามลภาวะทางอากาศในระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการแบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ โดยเทคโนโลยีฝนหลวงของไทยให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่ดำเนินความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อันเป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รวมถึงเพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน โดยมีประเทศไทย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก และฝ่ายเลขานุการถาวรของ AWMC ให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในปี 2567 นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "การแก้ไขและรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยนวัตกรรม การพัฒนาวิธีการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล และการจัดการความรู้แบบบูรณาการ" โดยผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติฯ จะมีโอกาสได้ชมการสาธิตการปฏิบัติการฝนหลวง และกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักบินจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ในการรับมือกับแนวโน้มความท้าทายในอนาคต แสวงหาความร่วมมือและการแบ่งปันความรู้ในด้านนี้ รวมถึงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ชุมชนของ “AWMC” จุดเด่นอีกหนึ่งประการคือการให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงลึกและการอภิปรายเกี่ยวกับแผนการวิจัยและพัฒนาภายใต้กรอบ 4S: ได้แก่ ความมั่นคง (Security) ความปลอดภัย (Safety) ความราบรื่น (Seamlessness) และความยั่งยืน (Sustainability)
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มุ่งหวังให้การประชุมนี้ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนา วิจัยและปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ตลอดจนร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ในการสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานภายใต้ “AWMC” โดยจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อันเป็นเครื่องมือ และกลไกสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และบรรเทามลภาวะทางอากาศในระดับภูมิภาคให้เกิดผลสัมฤทธิ์ อันจะนำไปสู่การดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันต่อไป
ภาพและวีดีโอ