งานเปิดยุทธการฝนหลวง สู้ภัยแล้ง 2 มี.ค.2558
กระทรวงเกษตรฯเปิดแผนปฏิบัติการฝนหลวงปี '58 ตั้ง 10 หน่วยฝนหลวงเดินตามแผนปฏิบัติการ 3 ระยะเพื่อป้องภัยแล้ง เติมน้ำในเขื่อน และปัญหาหมอกควัน-ไฟป่าในพท.เฝ้าระวังทางภาคเหนือ
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2557 ว่า ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ต่ำเพราะมีฝนตกลงมาน้อย ขณะเดียวกันยังต้อง เผชิญกับปรากฎการณ์เอลนิญโญ ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงและก่อความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ในปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที
โดยมีแผนปฏิบัติการทั้งหมด 3 แผน ได้แก่1)แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง ซึ่งแบ่ง การดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 (เดือนตุลาคม 2557 – กุมภาพันธ์ 2558) เป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสม เป็นระยะสั้นๆ และมีการเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการ ฝนหลวงประจำปี ระยะที่ 2 (เดือนมีนาคม – เมษายน 2558) เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและ ป่าไม้ ระยะที่ 3 (เดือนพฤษภาคม – กันยายน 2558) เน้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรร 2) แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเน้นเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2558 3) แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2558 เป็น การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ระยะที่ 1 โดยมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วพร้อมทั้งการเตรียม ความพร้อมด้านอากาศยาน การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและปัญหาหมอกควัน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค รวม 5 ศูนย์ และจะเริ่มเข้าสู่แผน การป้องกัน ระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มตามแผนปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งพร้อมที่จะรับข้อมูลการร้องขอฝน และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน แต่ทั้งนี้ ความสำเร็จในการทำฝนหลวงก็ขึ้นอยู่กับความชื้นซึ่งเป็นปริมาณน้ำต้นทุนในอากาศเช่นเดียวกัน โดยในปี 2557 แม้ว่าการปฏิบัติการฝนหลวงจะประสบความสำเร็จในการทำให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายได้ถึง 98% และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมกันถึง 230 ล้านไร่ ซึ่งก็ยังไม่ทั่วถึงพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกว่า 70 จังหวัดในทุกปี
“พิธีเปิดโครงการเปิดยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้งนั้น เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2543 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรวมพลเพื่อแสดงความพร้อมในทุกด้านของหน่วยปฏิบัติการ ฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนประจำปี และ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมงานฝนหลวงซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ นักบิน ช่างเครื่องบิน และเจ้าหน้าที่ทั้ง ฝ่ายอำนวยการและปฏิบัติการซึ่งจะต้องเสี่ยงภัยขึ้นเครื่องบินปฏิบัติงานในอากาศเกือบทุกวันติดต่อกัน” นายปีติพงศ์ กล่าว
ที่มา : กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์