กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้โอกาส "ดินชุ่มชื้น" เร่งเติมนำ้ลง 4 เขื่อนหลักในลุ่มนำ้เจ้าพระยา
15 ตุลาคม 2558
20,762
ครั้ง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้โอกาส "ดินชุ่มชื้น"
เร่งเติมน้ำลง 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันนี้ (14 ต.ค. 58) ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมชลประทานได้ปรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การจาก 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ในเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) นั้น
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสนับสนุนการเติมน้ำในอ่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในขณะนี้ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนเป็นไปตามเป้าที่วางไว้เดิม โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ต.ค. 58) เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 1,056 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 1,861 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนประมาณ 328 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 469 ล้านลูกบาศก์เมตร หากรวมทั้ง 4 เขื่อนจะได้ปริมาณน้ำ 3,714 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามในระยะเวลาอีก 2 สัปดาห์ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเดินหน้าเติมน้ำในเขื่อน ตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนให้ถึง 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าจะสามารถเติมในเขื่อนภูมิพลให้ได้ประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 300 ล้านลูกบากศ์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประมาณ 300 ล้านลูกบากศ์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนประมาณ 60 ล้านลูกบากศ์เมตร รวมทั้งสิ้นประมาณ 810 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงนี้ ดินมีสภาพชุ่มชื้น หรือ ในทางเทคนิคเรียกว่า "ดินอิ่มตัวด้วยน้ำ (Saturated Soil)" ซึ่งจะส่งผลให้น้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดินจะกลายเป็นน้ำผิวดิน (น้ำท่า) ได้เร็วจึงจะไหลลงเขื่อนต่างๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงใช้โอกาสนี้ในการเร่งปฏิบัติการก่อนที่สภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้จะมีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นแต่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับฤดูแล้งนี้และฤดูฝนปีหน้า ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนทำตามคำแนะนำจากภาครัฐเพื่อให้สามารถมีน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรในฤดูฝนต่อไป
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคใต้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมากขึ้นเนื่องจากฝนตามธรรมชาติและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ดังนั้นจึงยังเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ จังหวัดสงขลา จนกว่าหมดปัญหาหมอกควัน ทั้งนี้สามารถติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละหน่วยได้ทาง application Fonluang+ และ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร