เปลี่ยนการแสดงผล
วันที่ 27 มีนาคม 2561 นางสาวมาลินี สุทธิรัตน์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ ได้รับมอบหมายจากนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้การต้อนรับ นายพรพงศ์ กนิษฐานนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน และคณะสื่อมวลชนจากประเทศจอร์แดน
27 มีนาคม 2561 431 ครั้ง

วันที่ 27 มีนาคม 2561 นางสาวมาลินี สุทธิรัตน์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ พร้อมด้วย นายภักดี จันทร์เกษ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฝนหลวง และนายประสพ พรหมมา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ได้รับมอบหมายจากนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้การต้อนรับ นายพรพงศ์ กนิษฐานนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน และคณะสื่อมวลชนจากประเทศจอร์แดน ที่เดินทางมาศึกษาดูงานด้านการปฏิบัติการฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยรับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก และเยี่ยมชมการปฏิบัติการฝนหลวงของเจ้าหน้าที่ เพื่อศึกษาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนและการดัดแปรสภาพอากาศ ตลอดจนการให้บริการด้านการบินและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการเกษตรและอื่นๆ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ทั้งนี้ ประเทศไทยและจอร์แดนได้ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยี ฝนหลวง โดยฝ่ายไทยเป็นที่ปรึกษาสนับสนุนให้ฝ่ายจอร์แดนได้ฝึกปฏิบัติงานวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ และศึกษาเงื่อนไขการปฏิบัติการตามที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากไทย เพื่อให้ทราบปัญหาและข้อจำกัดในการปฏิบัติการฝนหลวงของจอร์แดน จึงมีความจำเป็นในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนและสื่อมวลชนของจอร์แดน เพื่อให้เห็นถึงผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีฝนหลวงของไทยมาประยุกต์ใช้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านเทคโนโลยีฝนหลวง พร้อมกับการได้สานต่องานตามศาสตร์ของพระราชาในต่างแดนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ในโอกาสนี้ คณะทูตไทยและคณะสื่อมวลชนจากประเทศจอร์แดน ได้เยี่ยมชมสวนผลไม้ที่ประสบความสำเร็จของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ สวนทุเรียนของนายอุดม วรัญญูรัฐ อาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี และสวนมังคุดของนายพิพัฒน์ อินทรเจริญ เกษตรกรแปลงใหญ่ ทั้งนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกมีพื้นที่การเกษตร จำนวน 12.8 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ จำนวน 3 ล้านไร่ อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย เป็นต้น โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละประมาณ 22.7 หมื่นล้านบาท และเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน จึงมีความต้องการน้ำเพื่อปลูกพืชไม้ผล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตรของภาคตะวันออก โดยอาศัยความร่วมมือจากอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่เป็นตัวแทนในการรายงานสภาพอากาศ ความต้องการน้ำของพื้นที่ และประชาสัมพันธ์การทำงานของหน่วยงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพและวีดีโอ