เปลี่ยนการแสดงผล
กรมฝนหลวงฯ ร่วมสืบสาน “ศาสตร์พระราชา” บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพิ่มโอกาสในการปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบความสำเร็จ
19 กรกฎาคม 2561 416 ครั้ง

วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.30 น. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ เขื่อนวชิราลงกรณ์ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ร่วมกับ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย ก.เกษตรฯ ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ก.มหาดไทย ก.กลาโหม ก.ศึกษาธิการ ก.การคลัง ก.การท่องเที่ยวฯ ก.วัฒนธรรม ม.แม่โจ้ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.ราชมงคลล้านนา พร้อมทั้งปลูกต้นรวงผึ้ง 12 ต้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งต้นรวงผึ้งเป็นพรรณไม้มงคลประจำรัชกาลที่ 10

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากวิกฤตการณ์ด้านทรัพยากรป่าไม้ที่ถูกทำลายซึ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ลดลง ส่งผลต่อกระบวนการเกิดฝนและปริมาณน้ำฝนตามธรรมชาติเกิด
ความผิดปกติ จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การฟื้นฟูผืนป่าเกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งเมื่อป่าเกิดความสมบูรณ์ก็จะทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยการเพิ่มโอกาสสำหรับการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงให้ประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

การดำเนินโครงการฯ แบ่งเป็น 3 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) กิจกรรมพิธีเปิดโครงการในวันนี้ (19 กรกฎาคม 2561) ณ บริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี 2) กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ดำเนินการตั้งแต่เริ่มเปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2561 (วันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2561) ร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน และ 3) กิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2561 โดยดำเนินการพร้อมกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน ทั้งนี้ ชนิดเมล็ดพันธุ์ ประกอบด้วย รวงผึ้ง ประดู่ ตะเคียน ยางนา มะขามป้อม ขนุน ชมพู่ มะม่วง มะค่า มะค่าโมง สมอพิเภก สัก พะยูง เต็ง รัง แดง ตะแบก และมะขามป้อมป่า นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นระบบติดตามการปลูกต้นไม้ “Collector for ArcGIS” เพื่อ เพิ่มความสะดวกในการติดตามข้อมูลการปลูกต้นไม้ได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ภาพและวีดีโอ