เปลี่ยนการแสดงผล
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 น. ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจันทบุรี สนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรีและประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่
3 พฤศจิกายน 2562 620 ครั้ง

                  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 น. ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจันทบุรี สนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรีและประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงตามแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อทำการบินปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดในความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน 

โดยในการปฏิบัติการฝนหลวง สนามบินท่าใหม่จะเป็นฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสนามบินอยู่ทางด้านต้นลมในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำให้สามารถบินปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรของภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ปลูกไม้ผลของจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และสระแก้วตอนล่างได้ทั้งหมด ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกมีจำนวน 12.8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 56 ของพื้นที่ทั้งหมด 22.8 ล้านไร่ ซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานจำนวน 884,354 ไร่ และพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานจำนวน 12 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจที่ปลูก ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีมูลค่าภาคการเกษตรจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาทต่อปี


สำหรับสนามบินท่าใหม่ เดิมมีพื้นที่รันเวย์เป็นดินลูกรังบดอัดแน่น ประกอบกับประสบปัญหาเป็นฝุ่นในฤดูแล้งและลื่นในช่วงหน้าฝน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมีแผนการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเป็นรันเวย์ราดแอสฟาติกส์คอนกรีต เพิ่มระยะทางทั้งหมด จากรันเวย์ดินลูกรัง 1,500 เมตร เป็นรันเวย์คอนกรีต 1,300 เมตร และเพิ่มระยะวิ่งจาก 980 เมตร ที่รองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดเล็กคาราแวน (CARAVAN) เป็นระยะ 1,200 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดกลางคาซ่า (CASA) และเกิดความปลอดภัยในการบินขึ้น-ลง ของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานของสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ เกิดผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติการฝนหลวงที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ ได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน พร้อมทั้งยังสามารถเป็นสนามบินสำรองหรือสนามบินฉุกเฉิน และสนับสนุนภารกิจทางการทหารและความมั่นคงได้เป็นอย่างดี




ภาพและวีดีโอ